หน้าแรก บทความ

มะพร้าวของไทย?


มะพร้าว

มะพร้าว พืชพรรณที่พบเห็นได้ทั่วไป ตามพื้นที่ชายทะเลทุกแห่งในประเทศไทย รวมทั้งได้ถูกกำหนดให้เป็นสัญลักษณะประจำมหาวิทยาลัยบูรพา
มะพร้าวเป็นพืชที่มีความผูกพันกับ วัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนไทยมาช้านาน คุณสมบัติที่ดีของมะพร้าว คือส่วนต่างๆ ของมะพร้าวสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า และสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ หลากหลาย ตั้งแต่ ลำต้น ใบ ก้าน ผล กะลา รกมะพร้าว กาบมะพร้าว รากมะพร้าว
มะพร้าวเป็นพืชที่นิยมบริโภคในประเทศไทย เป็นอย่างมาก นิยมนำมาทำอาหาร ทั้งคาวหวาน นอกจากนั้น ยังสามารถนำมาทำอุตสาหกรรมน้ำมันมะพร้าว อุตสาหกรรมกะทิเข้มข้น มะพร้าวขูดแห้ง น้ำตาลมะพร้าว และอุตสาหกรรมอื่นๆ เกี่ยวกับส่วนต่างๆ ของมะพร้าว เช่น เส้นใย ฯลฯ
ปัจจุบันคนไทยนิยมทานยอดมะพร้าวเป็นอาหารมากขึ้น เนื่องจากยอดมะพร้าวนำมาทำเป็นอาหารมากขึ้น เนื่องจากยอดมะพร้าวนำมาทำเป็นอาหาร ยำ ผัด แกง ฯลฯ โดยเฉพาะต้มยำกุ้งยอดมะพร้าว เป็นเมนูยอดนิยม ซึ่งยอดมะพร้าวเป็นอาหารชนิดหนึ่ง ที่ปลอดสารพิษ และเพิ่มเส้นใยอาหารได้ดี
สถาบันศิลปะและวัฒนธรรมฯ เห็นคุณค่าของมะพร้าวที่มีต่อวิถีชีวิตมนุษย์มายืนยาว จึงนำเสนอมะพร้าว รวมทั้งรวบรวมงานฝีมือต่างๆ ที่ใช้มะพร้าวเป็นองค์ประกอบ

ประโยชน์ทางยา

ส่วนที่ใช้เป็นยา คือเปลือกต้น เนื้อ น้ำมะพร้าว น้ำมัน กะลา ดอก ราก กาบ

สรรพคุณในตำรายาไทย


เปลือกต้นสด แก้เจ็บปวดฟัน และใช้ทาแก้หิด
เนื้อมะพร้าว รับประทานเป็นยาบำรุงกำลัง ขับปัสสาวะ ขับพยาธิ แก้ไข้ กระหายน้ำ
น้ำมะพร้าว รสหวานเค็ม รับประทานเป็นยาระบาย แก้ท้องเสีย ขับปัสสาวะ แก้พิษ แก้กระหายน้ำ แก้นิ่ว แก้อาเจียนเป็นโลหิตและบวมน้ำ นอกจากนี้ยังทำเป็นน้ำส้มสายชูใช้ประโยชน์อื่น ๆ อีกมาก
น้ำมันมะพร้าว รสหวานเค็ม รับประทานเป็นยาบำรุงกำลัง หรือทาเป็นยาแก้กลากเกลื้อน บำรุงหัวใจ แก้โรคผิวหนังต่างๆ ทาแผลน้ำร้อนลวก ทาผิวหนังแตกแห้ง และใช้ทาผม
กะลา เป็นยาแก้ท้องเสีย แก้ปวดกระดูกและเอ็น
ดอก รสฝาดหวานหอม เป็นยาแก้เจ็บปากเจ็บคอ แก้ท้องเสีย แก้ไข้ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ กล่อมเสมหะ บำรุงโลหิต แก้ปากเปื่อย
ราก รสฝาดหวานหอม เป็นยาแก้ท้องเสีย ขับปัสสาวะ หรืออมบ้วนปากแก้เจ็บคอ
ขนาดและวิธีใช้แก้ปวดฟัน ใช้เปลือกต้นสด เผาไหม้ให้เป็นเถ้า นำมาสีฟัน

 
แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด ใช้กะลามะพร้าวสะอาดเผาไฟจนแดงเอาคีมคีบเก็บไว้ในปีบสะอาด และปิดฝาจะได้ถ่านกะลาสีดำ เอามาบดเป็นผงรับประทาฯ ใช้คราวละ 1-2 ช้อนโต๊ะ
รักษาแผลเป็น เอามะพร้าวก้นกะลาขูดออกมาแล้วบีบเอาน้ำมันได้เท่าไร เอาไปเคี่ยวจนสุกแล้วทิ้งไว้ให้เย็น เอายอกมะลิ กลั้นใจเด็ด 7 ยอด โขลกให้ละเอียด ผสมน้ำมันมะพร้าวที่เคี่ยวแล้ว ทาทุกวันแผลเป็นจะหาย

งานฝีมือจากมะพร้าว


มะพร้าวเป็นพืชที่มีความผูกพันกับ วัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนไทยมาช้านาน คุณสมบัติที่ดีของมะพร้าว คือ ส่วนต่างๆ ของมะพร้าวสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า และสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ หลากหลาย ตั้งแต่ ลำต้น ใบ ก้าน ผล กะลา รากมะพร้าว กาบมะพร้าว ขุยมะพร้าว รากมะพร้าวประเภทของรูปแบบผลิตภัณฑ์มะพร้าว เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานหัตถกรรม มีมากมายหลายชนิด ขึ้นอยู่กับวัสดุที่มาจากส่วนต่างๆ ของมะพร้าว เช่น

ก้านมะพร้าว หรือแกนใบ นำมาผลิตงานหัตถกรรมได้หลายอย่าง เช่น ไม้กวาด เสวียนหม้อ หรือก้นหม้อ ที่รองจาน เครื่องประดับข้างฝา โป๊ะไฟฟ้า พัด ที่หุ้มภาชนะปักดอกไม้ กระเป๋าถือสตรี กระจาดใส่ผลไม้ เป็นต้น
กาบมะพร้าวหรือเปลือกมะพร้าว มีคุณสมบัติแข็งแรง คงทนต่อน้ำและน้ำทะเล มีความยืดหยุ่น และสปริงดี นำมาทำเชือก ทำพรม กระสอบ แปรงชนิดต่างๆ อวน ไม้กวาด เส้นใบสั้นใช้อัดไส้ของที่นอน เบาะรถยนต์ เป็นต้น
ใบมะพร้าว ใช้สานเป็นภาชนะใส่ของชั่วคราว ห่อขนม สานหมวกกันแดด สานเป็นเครื่องเล่นเด็ก และผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกรูปสัตว์ต่างๆ ของที่ระลึกประดับตกแต่ง
รากมะพร้าว เป็นเส้นยาว เหนียวมาก ใช้สานเป็นผลิตภัณฑ์ใช้สอย จำพวกตะกร้า ถาด ภาชนะสำหรับดอกไม้หรือใส่ของต่างๆ ประดิษฐ์เป็นหัตถกรรมของที่ระลึก
รกมะพร้าว หรือเยื่อหุ้มคอมะพร้าว ลักษณะเป็นแผ่นใยหยาบบางๆ ยืดหยุ่นได้ แต่แยกขาดง่าย ใช้ผลิตหัตถกรรมประเภท กระเป๋า หมวก รองเท้าแตะ กล่องใส่ของ ดอกไม้ประดิษฐ์ เป็นต้น
กะลามะพร้าว มะพร้าวแก่จะมีความคงทนมาก ไม่หดตัวแม้ถูกน้ำ ถูกแดด แต่จะเปราะง่าย หักง่าย หากกระทบกับสิ่งที่แข็งๆ ใช้ทำผลิตภัณฑ์ ภาชนะ เครื่องประดับ เครื่องดนตรี ที่วางแก้วน้ำ กระบวยตักน้ำ ที่เขี่ยบุหรี่ เป็นต้น